วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สภาพความเป็นอยู่ของกล้วยไม้

สภาพความเป็นอยู่ของกล้วยไม้

          กล้วยไม้ที่เจริญเติบโตอยู่ในธรรมชาติสามารถแบ่งตามลักษณะการเจริญเติบโต ได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. กล้วยไม้อากาศ (epiphyte) คือกล้วยไม้ที่เกาะอาศัยอยู่บนต้นไม้อื่น ๆ โดยมีรากเกาะติดกับกิ่งไม้หรือลำต้น กล้วยไม้อากาศไม่ได้แย่งอาหารจากต้นไม้ที่มันขึ้นอยู่ แต่ได้รับอาหารจากซากอินทรีย์วัตถุ เช่น ใบไม้ที่ร่วงและผุพัง รวมทั้งซากแมลงที่หล่นและน้ำฝนชะมาอยู่บริเวณโคนต้นกล้วยไม้ รากกล้วยไม้อากาศชอบการถ่ายเทอากาศและการระบายน้ำที่ดี ผิวนอกของรากมีสารคล้ายฟองน้ำห่อหุ้มอยู่ซึ่ง เรียกว่า “velaman” ทำหน้าที่อุ้มน้ำจากน้ำฝนและน้ำค้างเก็บไว้เพื่อป้องกันการขาดน้ำ ป้องกันเนื้อเยื่อภายในได้รับบาดแผลและช่วยยึดเกาะติดกับต้นไม้ นอกจากนี้รากกล้วยไม้มีคลอโรฟิลล์ (chlorophyll) จึงสามารถสังเคราะห์แสง (photosynthesis) ได้ กล้วยไม้อากาศชนิดที่ต้องการแสงที่มีความเข้มสูงจะเจริญอยู่บริเวณยอดและกิ่งบน ๆ ของต้นไม้ที่มันเกาะอยู่ ส่วนกล้วยไม้อากาศชนิดที่ต้องการแสงความเข้มต่ำรวมทั้งพวกที่ไม่สามารถทนต่อสภาพแล้งก็จะเจริญอยู่ส่วนล่าง ๆ ของต้นไม้ที่มันเกาะอยู่ นอกจากนี้กล้วยไม้อากาศบางชนิดพบขึ้นอยู่ตามหินหน้าผา ซอกหิน หรือท่อนไม้ซุง
          กล้วยไม้อากาศที่ส่วนใหญ่ปลูกเป็นการค้าแยกได้เป็นกล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตเป็นลำต้นเดี่ยวไม่มีการแตกกอ (monopodial) เช่น สกุลแวนด้า (Vanda) สกุลเข็ม (Ascocentrum) สกุลช้าง (Rhychostylis) สกุลกุหลาบ (Aerides) สกุลฟาเลนอปซิส (Phalaenopsis) ฯลฯ กล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตเป็นกอ (sympodial) เช่น สกุลหวาย (Dendrobium) สกุลออนซิเดียม (Oncidium) กลุ่มแคทลียา (Cattleya alliance) ฯลฯ
2. กล้วยไม้ดิน (terrestrial) พบขึ้นอยู่ตามพื้นดินที่ปกคลุมด้วยอินทรีย์วัตถุ ส่วนมากเป็นพวกที่มีหัวอยู่ใต้ดินและเป็นพวกที่มีการพักตัวตลอดฤดูแล้ง โดยเหลือเพียงหัวฝังอยู่ใต้ดิน เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนจะผลิใบและช่อดอกและสร้างหัวใหม่ขึ้นมาพร้อม ๆ กัน เมื่อดอกโรยใบจะเหี่ยวแห้ง คงเหลือหัวฝังอยู่ในดินตลอดฤดูแล้ง เช่น กล้วยไม้สกุลฮาบีนาเรีย (Habenaria) สกุลเปคไตลิส (Pecteilis) ฯลฯ เมื่อนำมาปลูกเลี้ยงในช่วงฤดูแล้งต้องแยกไว้ต่างหาก ไม่รดน้ำ เพราะจะทำให้หัวเน่า กล้วยไม้อีกประเภทหนึ่งเป็นพวกรากกึ่งดินคือกล้วยไม้สกุลรองเท้านารี (Paphiopedilum spp.)

      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น