วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประวัติกล้วยไม้

 ประวัติกล้วยไม้


           กล้วยไม้เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ในวงศ์ Orchidaceae เป็นไม้ตัดดอกยอดนิยม เนื่องจากมีลักษณะดอก และสีสันลวดลายสวยงาม เป็นไม้ตัดดอกที่มีอายุการใช้งานได้นาน กล้วยไม้เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของไทย เพราะเป็นไม้ส่งออกขายต่างประเทศทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายร้อยล้านบาท มีการปลูกเลี้ยงอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผสมเกสร เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เลี้ยงลูกกล้วยไม้ เลี้ยงต้นกล้วยไม้จนกระทั่งให้ดอก ตัดดอกบรรจุหีบห่อ และส่งออกเองแหล่งกำเนิดกล้วยไม้ป่าที่สำคัญของโลกมี 2 แหล่งใหญ่ๆ ด้วยกันคือ ลาตินอเมริกา กับเอเชียแปซิฟิค สำหรับในลาตินอเมริกาเป็นอาณาบริเวณอเมริกากลางติดต่อกับเขตเหนือของอเมริกาใต้

ส่วนแหล่งกำเนิดกล้วยไม้ป่าในภูมิภาคเอเชีย และแปซิฟิค มีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง จากการค้นพบประเทศไทยมีพันธุ์กล้วยไม้ป่าเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการเจริญงอกงามของกล้วยไม้มาก และกล้วยไม้ป่าที่ในพบในภูมิภาคแถบนี้มีลักษณะเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แตกต่างจากกล้วยไม้ในภูมิภาคลาตินอเมริกา


 








ลักษณะพิเศษของกล้วยไม้

ลักษณะพิเศษของกล้วยไม้
         
         การจำแนกพืชวงศ์กล้วยไม้ได้จำแนกลักษณะพิเศษของกล้วยไม้ที่ต่างจากพืชอื่นไว้ดังนี้

1. เกสรตัวผู้อยู่ข้างเดียวของดอก (ไม่สมดุล) กล้วยไม้ส่วนใหญ่มีเกสรตัวที่ไม่เป็นหมันเพียงอันเดียว แต่มีกล้วยไม้เพียง 1 สกุลที่มี 3 อัน แต่ล้วนอยู่ข้างเดียวซึ่งอาจเป็นขั้นตอนสำคัญของวิวัฒนาการของกล้วยไม้

2. เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียบางส่วนตะรวมกัน แต่ส่วนใหญ่จะรวมทั้งหมดเป็นโครงสร้างเดียวคือ “เส้าเกสร”

3. เมล็ดมีขนาดเล็กจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับพืชอื่น ๆ

4. ดอกกล้วยไม้มีกลีบชั้นในซึ่งเรียกว่า “ปาก” จะอยู่ตรงข้ามกับเกสรตัวผู้ที่ไม่เป็นหมัน ซึ่งต่างจากกลีบชั้นในอีก 2 อัน มีกล้วยไม้เพียงส่วนน้อยที่ “ปาก” ไม่แตกต่างจากกลีบชั้นในอีก 2 อัน

5. ดอกกล้วยไม้จะบิดในช่วงที่ดอกกำลังพัฒนา ตาดอกหรือดอกตูมจะบิดเพื่อให้ปากอยู่ส่วนล่างของดอกเมื่อบาน ซึ่งเรียกว่า “resupination”

6. ส่วนของ stigma ที่เรียกว่า “rostellum” จะเกี่ยวข้องกับการส่งกลุ่มเรณูจากดอกหนึ่งไปยังอีกดอกหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดสำคัญของวิวัฒนาการของกล้วยไม้

7. เรณูจะรวมกันเป็นกลุ่มเรณู ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะในวงศ์กล้วยไม้ ลักษณะนี้กับ rostellum จะเกี่ยวข้องกันอย่างมากในการถ่ายละอองเกสรโดยแมลงและนก ซึ่งจะพากลุ่มเรณูไปทั้งกลุ่ม ทำให้กล้วยไม้มีเมล็ดจำนวนมาก เนื่องจากเรณูไม่สูญเสียไปเหมือนพืชอื่น ๆ เมื่อฝักหรือผลแก่จะแตกออก เมล็ดซึ่งมีขนาดเล็กและมีอาหารสะสมเพียงเล็กน้อยจะปลิวกระจายไปตามลม มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะงอกเป็นต้น

สภาพความเป็นอยู่ของกล้วยไม้

สภาพความเป็นอยู่ของกล้วยไม้

          กล้วยไม้ที่เจริญเติบโตอยู่ในธรรมชาติสามารถแบ่งตามลักษณะการเจริญเติบโต ได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. กล้วยไม้อากาศ (epiphyte) คือกล้วยไม้ที่เกาะอาศัยอยู่บนต้นไม้อื่น ๆ โดยมีรากเกาะติดกับกิ่งไม้หรือลำต้น กล้วยไม้อากาศไม่ได้แย่งอาหารจากต้นไม้ที่มันขึ้นอยู่ แต่ได้รับอาหารจากซากอินทรีย์วัตถุ เช่น ใบไม้ที่ร่วงและผุพัง รวมทั้งซากแมลงที่หล่นและน้ำฝนชะมาอยู่บริเวณโคนต้นกล้วยไม้ รากกล้วยไม้อากาศชอบการถ่ายเทอากาศและการระบายน้ำที่ดี ผิวนอกของรากมีสารคล้ายฟองน้ำห่อหุ้มอยู่ซึ่ง เรียกว่า “velaman” ทำหน้าที่อุ้มน้ำจากน้ำฝนและน้ำค้างเก็บไว้เพื่อป้องกันการขาดน้ำ ป้องกันเนื้อเยื่อภายในได้รับบาดแผลและช่วยยึดเกาะติดกับต้นไม้ นอกจากนี้รากกล้วยไม้มีคลอโรฟิลล์ (chlorophyll) จึงสามารถสังเคราะห์แสง (photosynthesis) ได้ กล้วยไม้อากาศชนิดที่ต้องการแสงที่มีความเข้มสูงจะเจริญอยู่บริเวณยอดและกิ่งบน ๆ ของต้นไม้ที่มันเกาะอยู่ ส่วนกล้วยไม้อากาศชนิดที่ต้องการแสงความเข้มต่ำรวมทั้งพวกที่ไม่สามารถทนต่อสภาพแล้งก็จะเจริญอยู่ส่วนล่าง ๆ ของต้นไม้ที่มันเกาะอยู่ นอกจากนี้กล้วยไม้อากาศบางชนิดพบขึ้นอยู่ตามหินหน้าผา ซอกหิน หรือท่อนไม้ซุง
          กล้วยไม้อากาศที่ส่วนใหญ่ปลูกเป็นการค้าแยกได้เป็นกล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตเป็นลำต้นเดี่ยวไม่มีการแตกกอ (monopodial) เช่น สกุลแวนด้า (Vanda) สกุลเข็ม (Ascocentrum) สกุลช้าง (Rhychostylis) สกุลกุหลาบ (Aerides) สกุลฟาเลนอปซิส (Phalaenopsis) ฯลฯ กล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตเป็นกอ (sympodial) เช่น สกุลหวาย (Dendrobium) สกุลออนซิเดียม (Oncidium) กลุ่มแคทลียา (Cattleya alliance) ฯลฯ
2. กล้วยไม้ดิน (terrestrial) พบขึ้นอยู่ตามพื้นดินที่ปกคลุมด้วยอินทรีย์วัตถุ ส่วนมากเป็นพวกที่มีหัวอยู่ใต้ดินและเป็นพวกที่มีการพักตัวตลอดฤดูแล้ง โดยเหลือเพียงหัวฝังอยู่ใต้ดิน เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนจะผลิใบและช่อดอกและสร้างหัวใหม่ขึ้นมาพร้อม ๆ กัน เมื่อดอกโรยใบจะเหี่ยวแห้ง คงเหลือหัวฝังอยู่ในดินตลอดฤดูแล้ง เช่น กล้วยไม้สกุลฮาบีนาเรีย (Habenaria) สกุลเปคไตลิส (Pecteilis) ฯลฯ เมื่อนำมาปลูกเลี้ยงในช่วงฤดูแล้งต้องแยกไว้ต่างหาก ไม่รดน้ำ เพราะจะทำให้หัวเน่า กล้วยไม้อีกประเภทหนึ่งเป็นพวกรากกึ่งดินคือกล้วยไม้สกุลรองเท้านารี (Paphiopedilum spp.)

      

กล้วยไม้ที่ได้รับความนิยมปลูกเลี้ยงในประเทศไทย

กล้วยไม้ที่ได้รับความนิยมปลูกเลี้ยงในประเทศไทย 
          ประเทศไทยเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของกล้วยไม้เขตร้อน มีประมาณ 1,000 ชนิด กล้วยไม้ไทยมีความหลากหลายทั้งทางด้านรูปร่างและสีสันของดอกทรงต้น ใบ และสภาพที่อยู่อาศัย จึงได้มีการนำมาปลูกเลี้ยงตามบ้านเรือน และใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์สร้างลูกผสมที่เป็นที่นิยมมากมายทั้งเพื่อตัดดอกและเป็นไม้กระถาง
          กล้วยไม้ไทยหรือกล้วยไม้ที่ได้จากป่าของประเทศไทยก็เหมือนกับกล้วยไม้ป่าจากที่ต่าง ๆ ของโลก ซึ่งมักจะออกดอกปีละครั้งเป็นส่วนใหญ่ แต่เนื่องจากความสวยงามเฉพาะตัว ก็สามารถชดเชยเรื่องการออกดอกได้ และถ้าเลือกปลูกหลาย ๆ สกุลที่ฤดูออกดอกแตกต่างกันก็สามารถให้ดอกไว้เชยชมได้ตลอดทั้งปี
กล้วยไม้ไทยที่ได้รับความนิยมปลูกเลี้ยงสามารถแยกตามสกุลได้ดังนี้
1. สกุลกุหลาบ (Aerides spp.)
2. สกุลเข็ม (Ascocentrum spp.)
3. สกุลสิงโตกลอกตา (Bulbophyllum spp.)
4. สกุลคาแลนเธ (Calanthe spp.)
5. สกุลซีโลจิเน (Coelogyne spp.)
6. สกุลซิมบิเดียม (Cymbidium spp.)
7. สกุลหวาย (Dendrobium spp.)
8. สกุลม้าวิ่ง (Doritis pulcherrima)
9. สกุลแกรมมาโตฟิลลัม (Grammatophyllum speciosum)
10. สกุลฮาลีนาเรีย (Habenaria spp.)
11. สกุลรองเท้านารี (Paphiopedilum spp.)
12. สกุลฟาเลนอปซิส (Phalaenopsis spp.)
13. สกุลรีแนนเธอร่า (Renanthera spp.)
14. สกุลช้าง (Rhychostylis spp.)
15. สกุลสแปทโธกลอตติส (Spathoglottis spp.)
16. สกุลเสือโคร่ง (Trichoglottis spp.)
17. สกุลแวนด้า (Vanda spp.)
18. สกุลแวนดอปซิส (Vandopsis spp.)


วิธีการปลูกกล้วยไม้

วิธีการปลูกกล้วยไม้

การล้างลูกกล้วยไม้
         คือการล้างลูกกล้วยไม้จากการเพาะเนื้อเยื่อออกจากขวดเพาะแล้วล้างให้หมดเศษวุ้นอาหาร นำจุ่มลงในน้ำยานาตริฟินในอัตราส่วนน้ำยา 1 ส่วนต่อน้ำสะอาด 2,000 ส่วน แล้วนำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่ม แยกลูกกล้วยไม้ออกเป็น 2 ขนาด คือ ขนาดเล็กกับขนาดใหญ่พอจะปลูกลงในกระถางนิ้ว
การปลูกลูกกล้วยไม้ขนาดเล็ก
          ลูกกล้วยไม้ขนาดเล็กให้ปลูกในกระถางหมู่ หรือกระถางดินเผาทรงสูงขนาด 4-6 นิ้ว รองก้นกระถางด้วยถ่านขนาดประมาณ 1 นิ้ว สูงจนเกือบถึงขอบล่างของกระถาง แล้วโรยทับด้วยออสมันด้าหนาประมาณ 1 นิ้ว ให้ระดับออสมันด้าต่ำกว่าขอบกระถางประมาณครึ่งนิ้ว ใช้มือข้างหนึ่งจับไม้กลมๆ
          เจาะผิวหน้าออสมันด้าในกระถางให้เป็นรูลึกและกว้างพอสมควร ใช้มืออีกข้างหนึ่งจับปากคีบ คีบลูกกล้วยเบาๆ เอารากหย่อนลงไปในรูที่เจาะไว้ ให้ยอดตั้งตรง แล้วกลบออสมันด้าลงไปในรูให้ทับรากจนเรียบร้อย ควรจัดระยะห่างระหว่างต้นให้พอดี กระถางหมู่ขนาดปากกว้าง 4 นิ้ว ปลูกลูกกล้วยไม้ได้ประมาณ 40-50 ต้น

การปลูกลูกกล้วยไม้ขนาดใหญ่     
    ลูกกล้วยไม้ที่ต้นใหญ่ให้ปลูกในกระถางขนาด 1 นิ้ว ใช้ไม้แข็งๆ ค่อยๆ แคะออสมันด้าในกระถางตามแนวตั้งออกมาใช้นิ้วมือรัดเส้นออสมันด้าให้คงเป็นรูปตามเดิม ค่อยๆ แบะออสมันด้าให้แผ่บนฝ่ามือ หยิบลูกกล้วยไม้มาวางทับ ให้โคนต้นอยู่ในระดับผิวหน้าตัดของออสมันด้าพอดี หรือต่ำกว่าเล็กน้อย แล้วรวบออสมันด้าเข้าด้วยกัน นำกลับไปใส่กระถางตามเดิมเสร็จแล้วนำเข้าไปเก็บไว้ในเรือนเลี้ยงลูกกล้วยไม้
          สำหรับลูกกล้วยไม้ขนาดเล็กที่อยู่ในกระถางหมู่มาเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือนขึ้นไป มีลำต้นใหญ่แข็งแรงพอสมควรแล้วควรย้ายไปปลูกลงในกระถางนิ้ว โดยนำกระถางหมู่ไปแช่น้ำประมาณ 10 นาที ค่อยๆ แกะรากที่จับกระถางและเครื่องปลูกออก แยกเป็นต้นๆ นำไปปลูกลงในกระถางนิ้วเช่นเดียวกัน

การปลูกลงในกระเช้า        
  เมื่อลูกกล้วยไม้ในกระถางนิ้วมีรากเจริญแข็งแรงดี มีใบยาวประมาณข้างละ 2 นิ้ว ซึ่งจะใช้เวลาในการปลูกประมาณ 6-7 เดือน ก็นำไปลงปลูกในกระเช้าไม้ขนาด 3-5 นิ้ว ด้วยการนำกระถางนิ้วไปแช่น้ำประมาณ 5-10 นาที เพื่อให้แกะออกจากกระถางได้ง่าย ใช้นิ้วดันที่รูก้นกระถาง ทั้งต้นและออสมันด้าจะหลุดออกมา มือข้างหนึ่งจับออสมันด้าและลูกกล้วยไม้วางลงตรงกลางกระเช้าที่เตรียมไว้
          มืออีกข้างหนึ่งหยิบก้อนถ่านไม้ขนาดพอเหมาะใส่ลงไปในช่องระหว่างออสมันด้ากับผนังของกระเช้าให้พยุงลำต้นได้ นำไปแขวนไว้ในเรือนกล้วยไม้


การย้ายภาชนะปลูก      
   เมื่อลูกกล้วยไม้มีใบยาว 4-5 นิ้ว ควรจะย้ายไปปลูกในกระเช้าไม้ขนาด 8-10 นิ้ว โดยสวมกระเช้าเดิมลงไปในกระเช้าใหม่เพื่อมิให้รากกระทบกระเทือน ใช้ก้อนถ่านไม้ก้อนใหญ่ๆ วางเกยกันโปร่งๆ หรือจะไม่ใช้เลยก็ได้ เนื่องจากกล้วยไม้ไม่ต้องการเครื่องปลูกที่แน่นและชื้นแฉะเป็นเวลานานๆ
          ถ้าไม่ต้องการสวมกระเช้าเดิมลงไปก็นำกระเช้าเดิมไปแช่น้ำก่อน เพื่อให้แกะรากที่จับติดกระเช้าออกได้ง่าย นำต้นที่แกะออกแล้ววางตรงกลางกระเช้า ให้ยอดตั้งตรง มัดรากบางรากให้ติดกับซี่พื้นด้านข้างของกระเช้า

การตกแต่งกล้วยไม้ต้นใหญ่ก่อนปลูก   
      สำหรับกล้วยไม้ลำต้นใหญ่ที่ได้มาจากที่อื่นหรือจากการแยกหน่อ จะต้องตัดราก และใบที่เน่า หรือเป็นแผลใหญ่ๆ ทิ้งเสียก่อน รากบางส่วนที่ยังดีแต่ยาวเกินไป อาจตัดให้สั้นจนเกือบถึงโคนต้น แล้วทาแผลที่ตัดทุกแผลด้วยปูนแดงหรือยาป้องกันโรค เช่น ออร์โธไซด์ 50 ผสมน้ำให้เละมากๆ นำต้นกล้วยไม้ลงปลูกในกระเช้าไม้ซึ่งมีขนาดเหมาะสมกับลำต้น
          นอกจากนั้นยังอาจนำกล้วยไม้ต้นใหญ่ไปผูกติดกับท่อนไม้ หรือกระเช้าสีดา ให้บริเวณโคนต้นติดอยู่กับภาชนะปลูก ส่วนยอดอาจตั้งตรงทาบขึ้นไปหรือลำต้นโน้มไปข้างหน้าและส่วนยอดเงยขึ้น มัดลำต้นตรงบริเวณเหนือโคนต้นขึ้นไปเล็กน้อยให้ติดกับภาชนะปลูกด้วยเชือกฟางหรือลวด 1-2 จุด และมัดรากใหญ่ๆ ให้ติดกับภาชนะปลูกอีก 1-2 จุด เพื่อให้ติดแน่น อาจใช้กาบมะพร้าวกาบอ่อนชุบน้ำให้ชุ่ม มัดหุ้มบางๆ รอบโคนต้นกล้วยไม้เหนือบริเวณที่เกิดรากเล็กน้อยกับท่อนไม้ก็ได้ และนำท่อนไม้หรือกระเช้าสีดาไปแขวนบนราวเมื่อเกิดรากใหม่เกาะติดภาชนะปลูกดีแล้ว จึงตัดเชือกฟางหรือลวดออก

โรคกล้วยไม้

โรคกล้วยไม้        
         ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้โดยเฉพาะการปลูกกล้วยไม้เป็นการค้าก็คือ โรค และแมลงรบกวนอยู่เสมอ โรคของกล้วยไม้มีหลายชนิด บางชนิดทำให้ต้นกล้วยไม้ตายภายในระยะเวลารวดเร็ว บางชนิดทำให้เกิดคราบสกปรกดูไม่สวยงาม เกาะอยู่ตามกิ่งก้านช่อดอก และลำต้นของกล้วยไม้ หรือบางชนิดก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมาก แต่ไม่เป็นอันตรายต่อต้นกล้วยไม้ เชื้อโรคที่เข้าทำลายกล้วยไม้ส่วนใหญ่ จะมีขนาดเล็กมากซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นและขยายพันธุ์รวดเร็ว
            ดังนั้นถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำการป้อนกันกำจัดได้ยาก และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก ทางที่ดีควรป้องกันไม่ให้กล้วยไม้เกิดโรคเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยการจัดสภาพแวดล้อม และการปฏิบัติที่ดีจะสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ หรือเกิดโรคน้อยที่สุด สำหรับโรคที่พบเข้าทำลายกล้วยไม้มีดังนี้
 โรคแอนแทรคโนส (Anthacnose)
โรคแอนแทรคโนส (Anthacnose)
 โรคเน่าดำหรือโรคเน่าเข้าไส้ (Black rot or Phytophthora rot)
 โรคดอกด่างของแคทลียา (Cattleya Flower breaking)
 โรคดอกสนิม (Flower rusty spot)
 โรคเน่าแห้งหรือเหี่ยว (Fusarium wilt)
 โรคใบจุด (Leaf spot)
 โรคใบด่าง หรือยอดบิด (mosaic)
 โรคเน่าเละ (Soft rot)
 โรคราดำ (Sooty mold)
 โรคใบปื้นเหลือง (Yellow leaf spot)

แมลงศัตรูกล้วยไม้ และวัชพืช

แมลงศัตรูกล้วยไม้ และวัชพืช
เนื่องจากกล้วยไม้เป็นพืชส่งออกที่สำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง สามารถทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายล้านบาท แต่ในปัจจุบันการส่งออกกล้วยไม้ทั้งต้น และดอกประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะปัญหาแมลงศัตรูกล้วยไม้ ซึ่งเมื่อระบาดแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อกล้วยไม้ที่ผลิต เพื่อการส่งออก ซึ่งเน้นคุณภาพ และผลผลิตจะต้องปราศจากแมลงศัตรู สำหรับแมลงศัตรูกล้วยไม้ที่สำคัญต่อการผลิตกล้วยไม้มีดังนี้
 ด้วงเต่าหรือเต่ากล้วยไม้ (Chrysomelld beetle) 
 หนอนกระทู้ผัก (Cut worm) 
 ไรแดง (Mites) 
 หนอนกระทู้หอม (Onion cutworm, Beet army worn) 
 แมลงวันดอกกล้วยไม้ (Orchid fly)
 เพลี้ยหอย (Scale insects) 
 เพลี้ยไฟ (Thrips) 
 วัชพืช